เมนู

คำว่า พระสูตรมีอรรถ 6 อย่าง



ส่วนพระสูตร บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งพระสูตร กล่าวว่า พระสูตร
เพราะการแสดงถึงประโยชน์ เพราะเป็นดำรัสอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว เพราะ
เผล็ดประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์ เพราะเป็นที่ต้านทานอย่างดี เพราะ
มีส่วนเปรียบด้วยเส้นด้ายบรรทัด.
จริงอยู่ พระสูตรนั้นย่อมแสดงประโยชน์ทั้งหลายอันต่างโดยประโยชน์
ของตน และของผู้อื่นเป็นต้น. อนึ่ง ในพระสูตรนี้ มีอรรถที่ตรัสไว้อย่างดี
เพราะตรัสคล้อยตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์. ก็พระสูตรนี้ ย่อมหลั่งออกซึ่ง
ประโยชน์ทั้งหลาย เหมือนข้าวกล้าผลิตผล และย่อมหลั่งออกซึ่งประโยชน์
ทั้งหลาย เหมือนแม่โคนมหลั่งน้ำนมออก ชื่อว่า ต้านทาน คือ ย่อมรักษา
ประโยชน์ทั้งหลายเหล่านั้นอย่างดี อนึ่ง ชื่อว่า มีส่วนเปรียบด้วยเส้นด้าย
บรรทัด เปรียบเหมือนเส้นด้ายบรรทัด ย่อมเป็นประมาณของช่างถากทั้งหลาย
ฉันใด พระสูตรแม้นี้ ก็เป็นประมาณของวิญญูชนทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
อนึ่ง ดอกไม้ทั้งหลายที่เขาร้อยไว้ด้วยด้าย ย่อมไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจายฉันใด
เนื้อความทั้งหลายที่ทรงรวบรวมไว้ด้วยพระสูตรนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ด้วย
เหตุนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในอรรถแห่งการกล่าวถึงพระสูตรนั้น ท่านจึง
ประพันธ์คาถาไว้ว่า
อตฺถานํ สูจนโต สุวุตฺตโต สวนโตถ สูทนโต
สุตฺตาณา สุตฺตสภาคโต จ สุตฺตํ สุตฺตนฺติ อกฺขาตํ
พระสูตร ท่านเรียกว่า พระสูตร
เพราะแสดงอรรถ เพราะตรัสไว้ดีแล้ว
เพราะเผล็ดประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์

เพราะต้านทานได้ดี และเพราะมีส่วนเปรียบ
ด้วยเส้นด้ายบรรทัด ฉะนั้น.


อภิธรรมมีอรรถ 5 อย่าง



ส่วนพระอภิธรรม บัณฑิตกล่าวว่า พระอภิธรรม เพราะเหตุที่ใน
อภิธรรมปิฎกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมที่มีความเจริญ 1 ที่ควรกำหนด 1
ที่ควรบูชา 1 ที่กำหนดไว้ 1 และเป็นที่ยิ่ง 1.
จริงอยู่ อภิศัพท์นี้ ใช้ในความหมายว่าเจริญ ควรกำหนด ควรบูชา
ที่กำหนดไว้ และที่ยิ่ง. จริงอย่างนั้น อภิศัพท์นี้ ใช้ในคำว่าเจริญ ในประโยค
มีอาทิว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทุกขเวทนาหนัก ย่อมเจริญ (กำเริบ) แก่กระผม
มิได้ลดลง ดังนี้. ใช้ในความหมายถึงควรกำหนด ในประโยคมีอาทิว่า ราตรี
เหล่านั้นใด ท่านกำหนดรู้แล้ว กำหนดหมายไว้แล้ว ดังนี้. ใช้ในความหมาย
ถึงควรบูชา ในประโยคมีอาทิว่า พระราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นจอมมนุษย์
ดังนี้. ใช้ในความหมายถึงกำหนดไว้ ในประโยคมีอาทิว่า ปฏิพโล วิเนตุํ
อภิธมฺเม อภิวินเย
แปลว่า เป็นผู้สามารถเพื่อแนะนำในธรรมที่กำหนดไว้
ในวินัยที่กำหนดไว้ ดังนี้. อธิบายว่า ในธรรมและวินัยที่เว้น จากการปะปนกัน.
ใช้ในความหมายว่ายิ่ง (อธิกะ) ในประโยคมีอาทิว่า มีวรรณะอันงามยิ่ง ดังนี้.
อนึ่ง ในพระอภิธรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทั้งหลายที่มี
ความเจริญ โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมเจริญมรรคเพื่อเข้าถึงรูปภพ มีจิต
ประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ดังนี้ก็มี ตรัสธรรมทั้งหลายที่ควร
กำหนด เพราะความเป็นธรรมที่ควรกำหนดด้วยอารมณ์ทั้งหลายโดยนัยเป็นต้น
ว่า เป็นรูปารมณ์ หรือ สัททารมณ์ ดังนี้ก็มี ตรัสธรรมทั้งหลายที่น่าบูชา